e-Education ในระบบการจัดการศึกษา

การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษา

e-Education คือการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาทั้งระบบ

เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาบุคลากรของสถาบันการศึกษา กระบวนการรับนิสิต งานทะเบียนและวัดผล งานหลักสูตรและการสอน งานห้องสมุด งานแนะแนว งานวิจัยและพัฒนาา งนกิจการนักศึกษา การจัดการความรู้ ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารสถานศึกษา งานอาคารสถานที่ งานสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ

ในปัจจุบัน คำว่า e-Education ในไทย เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยจะยังไม่ประกาศยุทธศาสตร์การสร้าง e-Education ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะอาจจะยังไม่มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ e-Education จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาภายในประเทศที่ชัดเจนนัก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในแวดวงวิชาการด้านการศึกษาระดับสากลเองก็มีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับ e-Education ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีบทความวิชาการและงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็น e-Education อย่างเป็นทางการ

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับ e-Education ที่น่าสนใจหยิบยกมาพูดถึงเพื่อเป็นแนวทางการจัดการศึกษาของไทย โดยเฉพาะงานวิจัยเรื่อง The Paradigms of e-Education ของ Jyrki Pulkkinen, Finland และงานวิจัยเรื่อง A conceptual framework for implementing e-education ของ Hemduth Rugbeer, South Africa

งานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen เรื่อง The Paradigms of e-Education ได้ชี้ประเด็นสำคัญ 2 ประการเกี่ยวกับอนาคตภาพของ e-Education

ประเด็นแรกก็คือ e-Education ในฐานะแนวโน้มจำเป็นสำหรับการจัดการศึกษาในอนาคตอันใกล้นี้
และประเด็นที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญมากก็คือ ความท้าทายของนักวิชาการทางด้านการศึกษาที่จะหลอมรวมการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เข้ากับทฤษฎีทางด้านการบริหารการศึกษา

งานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแวดวงการศึกษาในอนาคต ยุคที่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดการศึกษาล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบ 100%

ส่วนงานวิจัยของ Hemduth Rugbeer เรื่อง A conceptual framework for implementing e-education นั้น ได้นำเสนอประเด็นที่คล้ายกับงานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen หากแต่ Hemduth Rugbeer เน้นไปที่ตัวเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารค่อนข้างมากกว่าของ Jyrki Pulkkinen อาจเป็นเพราะว่า Hemduth Rugbeer เป็นนักวิจัยจากประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการศึกษา Hemduth Rugbeer จึงไม่เน้นไปที่ตัวระบบของการศึกษาเหมือน Jyrki Pulkkinen ซึ่งเป็นนักวิจัยจากประเทศฟินแลนด์ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมกว่า

e-Education ในระบบการจัดการศึกษา

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจที่ Hemduth Rugbeer ได้นำเสนอไว้ก็คือ การจัดให้ e-Education เป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารสถานศึกษา โดย Hemduth Rugbeer มองว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการนำ e-Education มาใช้ หากว่าผู้บริหารสถานศึกษาไม่มีภาวะผู้นำในเรื่องการสนับสนุนให้มี e-Education แล้ว การจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพก็ไม่อาจเดินหน้าไปได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อนำกรณีศึกษาจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวมาใช้เสมือนเป็นแนวทางการจัดการศึกษาของไทย ในแง่ของการนำ e-Education มาใช้ในการจัดการศึกษา เปรียบเทียบกับ “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 3) ของประเทศไทย พ.ศ. 2557-2561” แล้ว จึงจะขอนำเสนอกระบวนทัศน์การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษาในอนาคต ดังต่อไปนี้

ขณะนี้ในประเทศไทย แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษานั้น ยังเป็นเรื่องใหม่ หรือ “เป็นเรื่องของอนาคต” ซึ่งเห็นได้จาก “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 3) ของประเทศไทย พ.ศ. 2557-2561” เองก็ไม่ได้กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึงคำว่า e-Education ดังได้กล่าวไปแล้วว่า “แผนแม่บทฯ” ดังกล่าวนำเสนอเพียงภาพรวมหรือองค์ประกอบที่มีส่วนทำให้เกิด e-Education เท่านั้น

แต่ทว่า เมื่อพิจารณาในบริบทของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทางด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษา เช่น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่ง หรือมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ก็จะเห็นทิศทางการนำ e-Education มาใช้กับระบบการจัดการศึกษาบ้างแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ดี ในปัจจุบันก็ยังไม่มีสถาบันใดกล่าวอ้างว่าสถาบันการศึกษาของตนใช้ e-Education อย่างเต็มรูปแบบแต่อย่างใด

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการนำ e-Education มาใช้ในระบบการจัดการศึกษา

และที่สำคัญก็คือ การเร่งจัดทำ “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ” ฉบับใหม่

การวางระบบ e-Education อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ตาม “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 3) ของประเทศไทย พ.ศ. 2557-2561” จะเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะริเริ่มโครงการ e-Education ในอนาคตข้างหน้านี้

และคงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หากว่าแนวนโยบายของรัฐบาลไทยดังกล่าว จะไปตรงกับบทสรุปจากงานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen เรื่อง The Paradigms of e-Education และงานวิจัยของ Hemduth Rugbeer เรื่อง A conceptual framework for implementing e-education เข้าอย่างจัง

ทั้งนี้เนื่องเพราะกระบวนทัศน์การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษากำลังเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของโลกยุคหน้านั่นเอง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ madomal.com

Releated